เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
นักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

10. รูปแบบของสื่อหลายมิติในการเรียนการสอนประกอบด้วยอะไรบ้าง

(เกษม ก้อนทอง ; 2549:135) สื่อหลายมิตินั้น เป็นสื่อผสมที่นำมาพัฒนาจากข้อความมิติ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวข้องกับข้อความหลายมิติ hypertext นี้มีมานานแล้ว โดยแวนนิวาร์บุช (Vannevar Bush) เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเขากล่าวว่าน่าจะมีเครื่องมืออะไรสักอย่างที่ช่วยในเรื่อง ความจำและความคิดของมนุษย์ที่จะช่วยให้เราสามารถสืบค้น และเรียกใช้ข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ได้หลายๆข้อมูลในเวลาเดียวกันเหมือนกับที่คนเราสามารถคิดเรื่องต่างๆ ได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน


ข้อความหลายมิติ Hypertext หรือข้อความหลายมิติ คือ เทคโนโลยีของการอ่าน และการเขียนที่ไม่เรียงลำดับเนื้อหากัน โดยเสนอในลักษณะของข้อความที่เป็นตัวอักษร หรือภาพกราฟฟิกอย่างง่าย ที่มีการเชื่อมโยงถึงกันเรียกว่า “ จุดต่อ” (node) โดยผู้ใช้สามารถเคลื่อนที่จากจุดต่อหนึ่งไปยังอีกจุดต่อหนึ่งได้โดยการเชื่อมโยงจุดต่อเหล่านั้น

ข้อความหลายมิติ เป็นระบบย่อยของสื่อหลายมิติถือเป็นการนำเสนอสารสนเทศที่ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องอ่านเนื้อหาในมิติเดียวเรียงลำดับกันในแต่ละบทตลอดทั้งเล่ม โดยผู้อ่านสามารถข้ามไปอ่านหรือค้นคว้าข้อมูลทีสนใจตอนใดก็ได้โดยไม่ต้องเรียงลำดับลักษณะข้อความหลายมิติอาจเปรียบเทียบได้เหมือนกับบัตรหรือ แผ่นฟิล์มใส หลายๆแผ่น ที่วางซ้อนกันเป็นชิ้นๆ ในแต่ละแผ่นจะบรรจุข้อมูลแต่ละอย่างลงไว้

กิดานันท์ มลิทอง (2540:269) กล่าวไว้ว่า สื่อหลายมิติเป็นการขยายแนวความคิดของข้อความหลายมิติในเรื่องของการเสนอข้อมูลในลักษณะไม่เป็นเส้นตรง และเพิ่มความสามารถนาการบรรจุข้อมูลในลักษณะของภาพเคลื่อนไหวแบบวีดีทัศน์ ภาพกราฟฟิกในลักษณะภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพถ่าย เสียงพูด เสียงดนตรี เข้าไว้ในเนื้อหาด้วย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาเรื่องราวได้หลายรูปแบบมากกว่าเดิม

สรุปได้ว่า การนำเสนอเนื้อหาแบบข้อความหลายมิติ และสื่อหลายมิติเป็นการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะของกรอบความคิดแบบใยแมงมุม ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่เชื่อว่าจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับวิธีที่มนุษย์จัดระบบความคิดภายในจิตใจ ดังนั้น ข้อความหลายมิติและสื่อหลายมิติจึงทำให้สามารถคัดลอกเครือข่ายโยงใยความจำของมนุษย์ได้ การใช้ข้อความหลายมิติและสื่อหลายมิติในการเรียนการสอนจึงช่วยผู้เรียนได้

9 .สื่อประสมคืออะไร

ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2533:115) ให้ความหมายว่า สื่อประสม เป็นการนำสื่อการสอนหลายอย่างมาสัมพันธ์กันเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาสาระ ในลักษณะที่สื่อแต่ละชิ้นส่งเสริมสนับสนุนกันและกัน


อิริคสัน(Erickson.1965:11) ได้แสดงความหมายว่า สื่อประสม หมายถึง การนำสื่อหลายๆอย่างมาใช้ร่วมกันอย่างมีความสัมพันธ์ มีคุณค่าและส่งเสริมซึ่งกันและกัน สื่อการสอนอย่างหนึ่งอาจใช้เพื่อเร้าความสนใจ ในขณะที่อีกอย่างหนึ่งใช้เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงของเนื้อหา และอีกชนิดหนึ่งอาจใช้เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และป้องกันการเข้าใจความหมายผิดๆ การใช้สื่อประสมจะช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์จากประสาทสัมผัสที่ผสมผสานกัน ได้ค้นพบวิธีการที่จะเรียนในสิ่งที่ต้องการได้ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น

การนำสื่อประสมมาใช้ในการเรียนการสอนอาจอยู่ในลักษณะเป็นชุด ถ้าออกแบบมาเพื่อใช้ในการเรียนการสอน เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว เรียกว่า ชุดการสอน (Package) แต่บางครั้งก็ออกมาเพื่อใช้ในการเรียนการสอนได้หลายเรื่อง เรียกว่า ชุดอุปกรณ์หรือชุดเครื่องมือ (Kit)

สรุปได้ว่า สื่อประสม ก็คือ การนำสื่อการสอนหลายอย่างมาสัมพันธ์กันเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาสาระ สื่อการสอนอย่างหนึ่งอาจจะใช้เพื่อเร้าความสนใจ และอีกอย่างหนึ่งก็อาจจะใช้อธิบายเนื้อหา การใช้สื่อประสมช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์จากประสาทสัมผัสที่ผสมผสานกัน

8. สื่อการสอน คืออะไร

เปรื่อง กุมุท ( 2519:1) กล่าวว่า สื่อการสอน หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือหรือช่องทางสำหรับทำให้การสอนของครูถึงผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนเรียนตามวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่ครูวางไว้เป็นอย่างดี


ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2533:112) ได้ให้ทัศนะว่า สื่อการสอนหมายถึง วัสดุ (สิ่งสิ้นเปลือง) อุปกรณ์(เครื่องมือที่ไม่ผุพังได้ง่าย) และวิธีการ (กิจกรรม ละคร เกม การทดลอง ฯลฯ ที่ใช้เป็นสื่อกลางให้ผู้สอนสามารถส่งหรือถ่ายทอดความรู้ เจตคติ (อารมณ์ ความรู้สึก ความสนใจ ทัศนคติ และค่านิยม) และทักษะไปยังผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อธิพร ศรียมก (2523:64) กล่าวว่า สื่อการสอนหมายถึงอะไร (ที่ไม่ใช่ครูพูดปากเปล่าเพียงอย่างเดียว) ที่ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างน่าสนใจ สนุกตื่นเต้น และทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอน

บราววน์ และคนอื่นๆ (Brown and others. 1773:2) ได้ให้ความหมายว่าสื่อการสอนได้แก่ อุปกรณ์ทั้งหลายที่ช่วยเสนอความรู้ให้แก่ผู้เรียนจนเกิดผลการเรียนที่ดี ทั้งนี้มีความหมายรวมถึงกกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เฉพาะแต่สิ่งที่เป็นวัตถุหรือเครื่องมือเท่านั้น เช่น การศึกษานอกสถานที่ การแสดงบทบาท นาฏการ การสาธิต การทดลอง ตลอดจนการสัมภาษณ์ และการสำรวจ เป็นต้น

สรุปได้ว่า สื่อการสอน หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่เป็นตัวกลางหรือพาหะ หรือพาหนะนำความรู้ไปสู่ผู้เรียนและทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เป็นอย่างดี และเป็นสื่อกลางให้ผู้สอนส่งหรือถ่ายทอดความรู้ เจตคติไปยังผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีบทบาทในการศึกษามีอะไรบ้างและแต่ละอย่างเป็นอย่างไร

เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทในการศึกษาดังนี้


1. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer assisted instruction: CAI) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์มาสร้างบทเรียนเพื่อใช้ในการศึกษาหรือจัดอบรมให้ได้เข้าใจนอกเวลาเรียน และสามารถทบทวนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าผู้เรียนจะเข้าใจซึ่งบางครั้งสารสนเทศได้รับอาจอยู่ในรูปของสื่อประสมและใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อให้การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาและการฝึกอบรม

2. การศึกษาทางไกล เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยในการจัดรูปแบบการศึกษาทางไกล โดยให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถสื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ทันที

3. เครือข่ายการศึกษา เป็นการแบ่งหรือจัดกลุ่มเครือข่ายเพื่อการศึกษาเพื่อให้ครู อาจารย์และผู้เรียนมีโอกาสใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการแสวงหาความรู้บนโลกที่ไร้พรหมแดน เช่น บริการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ การเผยแพร่และค้นหาข้อมูลในระบบ WWW. โดยกลุ่มเครือข่ายการศึกษามีหลายระดับ เช่น เครือข่ายยูนิเน็ต (university network: UniNet) ซึ่งเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ของรัฐ เอกชน ที่ดูแลโดยทบวงมหาวิทยาลัย ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษาจะมีเครือข่ายสคุลเน็ต (School Net) ดูแลโดยเนคเทคเป็นการส่งเสริมและขยายโอกาสในการเรียนรู้ของนักเรียนและประชาชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้สารสนเทศ

4. การใช้งานห้องสมุด ห้องสมุดในทุกสถาบันการศึกษาได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเสริมบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลบริการยืม-คืน ทั้งสื่อที่เป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ วารสารและนิตยสารต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถสืบค้นรายการหนังสือผ่านเว็บไซต์ได้

5. การใช้งานห้องปฏิบัติการในการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ จะต้องมีการฝึกปฏิบัติจึงต้องมีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการ เช่น นักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จะมีการฝึกฝนเขียนโปรแกรมหรือสอบผ่านเครื่องในห้องที่สาขาวิชากำหนดหรือใช้ปฏิบัติ เป็นต้น

6. การใช้งานประจำและงานบริหาร เช่น การจัดทำทะเบียนประวัติของนักศึกษา การลงทะเบียนเรียน การแสดงผลการเรียน ล้วนแต่สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้งานได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาให้สามารถสืบค้นหรือแสดงผลสารสนเทศภายในสถาบันได้

สรุปได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทในการศึกษาต่างๆมากมาย อย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นการใช้คอมพิวเตอร์มาสร้างบทเรียน การศึกษาทางไกล ช่วยในการจัดรูปแบบการศึกษาทางไกล เครือข่ายการศึกษาเป็นการแสวงหาความรู้บนโลกที่ไร้พรมแดน การใช้งานในห้องสมุด การใช้งานห้องปฏิบัติการในการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การใช้งานประจำและงานบริหาร เช่น การจัดทำทะเบียนประวัติของนักศึกษา การลงทะเบียนเรียน การแสดงผลการเรียน

6. เทคโนโลยีสารสนเทศหมายถึงอะไร

สุชาดา กีระนันท์ (2541:23) ได้ให้ความหมายว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง เทคโนโลยีทุกด้านที่เข้าร่วมกันในกระบวนการจัดเก็บ สร้างและสื่อสารสนเทศ


วาสนา สุขกระสานติ (2541:6-1) กล่าวถึงความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง กระบวนการต่างๆ และระบบงานที่ช่วยให้ได้สารสนเทศตามที่ต้องการ

ลูคัส (Lucas,Jr. 1997:7) กล่าวว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะอ้างถึงเทคโนโลยีทุกชนิดที่ประยุกต์เพื่อใช้ในกระบวนการประมวลผลจัดเก็บ และส่งผ่านสารนิเทศต่างๆ ให้อยู่ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหลักสองสาขา คือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสื่อโทรคมนาคม โดยทั่วไป หมายถึง เทคโนโลยีสำหรับการสร้าง การจัดการ การประมวลผลข้อมูลให้เป็นข้อสนเทศ การเก็บบันทึกข้อมูลเป็นฐานข้อมูล และส่งผ่านสารสนเทศจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศไว้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศหมายถึง การนำเทคโนโลยีมาใช้งานที่เกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูล เพื่อให้ได้สารสนเทศซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีสื่อสารเพื่อช่วยในการสื่อสารและการส่งผ่านข้อมูลและสารสนเทศได้สะดวกเร็วมากขึ้น

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีสารสนเทศหมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้จัดการสารสนเทศ เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การรวบรวมการจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล การพิมพ์ การสร้างรายงาน การสื่อสารข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศจะรวมไปถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดระบบการให้บริการการใช้และการดูแลข้อมูล

สรุปได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง การนำเทคโนโลยีมาใช้งานเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลการบันทึกข้อมูลเป็นฐานข้อมูล การจัดการสร้างและสื่อสารสารสนเทศ เพื่อช่วยให้เราได้สารสนเทศตามที่ต้องการ ลักษณะสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในสิ่งต่างๆ มากมายเช่น เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ผลของเทคโนโลยีสารสนเทศก็จะมีต่างๆ มากมายเหมือนกัน เช่น การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

5. เทคโนโลยีหมายถึง

            คำว่าเทคโนโลยีมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือคำว่า tech หมายถึง art และ logos หมายถึง a study of เมื่อรวมเป็น Technology จึงหมายถึง a study of art


พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า เทคโนโลยี ว่าเป็นวิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการนำเอาวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติและอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีมีความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เทคโนโลยีมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนั้นเทคโนโลยีไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เพียงกับมนุษย์และเครื่องจักรกลเท่านั้น แต่ยังหมายถึง กระบวนการที่เป็นระบบโดยการนำเอาสิ่งที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้อย่างมีระบบ อันก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีหมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ การศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ก็เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของสิ่งต่างๆ และหาแนวทางมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์

เรืองวิทย์ นนทภา(2542:20) กล่าวว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการเอาวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ และอุตสาหกรรม กัลเบียท กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เทคโนโลยี เป็นกระบวนการของการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือความรู้อื่นๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติ

สรุปได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง การนำหลักความคิด เทคนิควิธีการและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานให้สูงขึ้น

4. นวัตกรรมการศึกษาคืออะไร

วารสารออนไลน์ บรรณปัญญา กล่าวว่านวัตกรรมการศึกษา (Education Innovation) หมายถึง นวัตกรรมที่ช่วยให้การศึกษาและการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมการศึกษา และประหยัดเวลาในการเรียนการสอนได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมการศึกษามากมายหลายอย่าง ซึ่งมีนวัตกรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและประเภทกำลังเผยแพร่ เช่น การเรียนการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Aids Instruction) การใช้แผ่นวีดีทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเทอร์เน็ต (Internet)


นวัตกรรมการศึกษา คือ ความใหม่ในด้านการศึกษา อาจเป็นแนวความคิดใหม่ทางการศึกษาเป็นทฤษฎีใหม่เป็นวิธีสอนใหม่ เทคนิคการสอนใหม่ รวมทั้งการนำเสนอสาระด้วยสื่อใหม่ๆ นวัตกรรมการศึกษาส่วนมากเกิดขึ้นในประเทศที่มีความเจริญมากๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและหลายๆประเทศในยุโรป สำหรับการศึกษามีการนำนวัตกรรมของต่างประเทศมาใช้อยู่เสมอ โดยเฉพาะนวัตกรรมทางทฤษฎีการเรียนรู้และแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนรวมทั้งนวัตกรรมด้าน IT ในขณะเดียวกันนักการศึกษาไทยก็ได้พัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนของไทยขึ้นเอง ซึ่งมีทั้งนวัตกรรมเชิงทฤษฎีหรือแนวความคิดสำคัญทางการศึกษา

สรุปได้ว่า นวัตกรรมการศึกษาก็คือ นวัตกรรมที่ช่วยให้การศึกษา และการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพสูกกว่าเดิม เทคนิคการสอนใหม่ ทฤษฎีใหม่ ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมการศึกษาและประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย

3. นวัตกรรมคืออะไร

ทอมัส ฮิวส์ (Thomas Hughes) ได้ให้ความหมายของนวัตกรรมว่า เป็นการนำวิธีการใหม่ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลอง หรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้นๆ แล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention ) การพัฒนา(Development) ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของโครงการปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา


มอร์ตัน (Moton , J.A.) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Oraganizing for innovation ว่า นวัตกรรม หมายถึง การทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง (Renewal) ซึ่งหมายถึง การปรับปรุงของเก่า และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ นวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการปรับปรุงเสริมแต่งและพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ

ไชยยศ เรืองสุวรรณ ได้ให้ความหมายนวัตกรรมไว้ว่า หมายถึง วิธีการปฏิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจาการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาหรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการพัฒนาทดลอง พัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้ แล้วว่าได้ผลดีในทางปฏิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสุ่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

จรูญ วงศ์สายัณห์ ได้กล่าวถึงความหมายของนวัตกรรมว่า แม้ในภาษาอังกฤษเอง ความหมายก็ต่างกันเป็น 2 ระดับ โดยทั่วไปนวัตกรรมหมายถึง ความพยายามใดๆ จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ก็ตามที่เป็นไปเพื่อนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ทำอยู่เดิมแล้วกับอีกระดับหนึ่ง ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์แห่งพฤติกรรมได้พยายามศึกษาที่มา ลักษณะ กรรมวิธี และผลกระทบที่อยู่ต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง คำว่า นวัตกรรม มักจะหมายถึง สิ่งที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงใหม่เข้ามาใช้ได้ผลสำเร็จและแผ่กว้างออกไป

สรุปได้ว่า นวัตกรรมก็คือ วิธีการปฏิบัติใหม่ๆ อาจจะเป็นการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาหรืออาจจะเป็นการปรับปรุงของเก่าให้ได้รับการพัฒนา พัฒนาจนเป็นที่ยอมรับน่าเชื่อถือได้ และก็สามารถนำสิ่งนั้นไปปฏิบัติจริงซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา

2. มีทฤษฎีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ และแต่ละทฤษฎีเป็นอย่างไร

ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข


ประเวศ วะสี (2541:27) ได้กล่าวถึงปัญหาการศึกษาไทยประการหนึ่ง คือการเรียนเป็นความทุกข์เพราะการเรียนยาก ไม่สนุก น่าเบื่อ ทำให้คนเกลียดการศึกษา นำไปสู่ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นครูควรทำให้การเรียนรู้เป็นความสุข สนุก ชวนให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

กิติยวดี บุญซื่อ (2540:32-84) กล่าวว่าทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุขเป็นวิธีเรียนแบบใหม่ที่ทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนาน ผู้เรียนมาเรียนด้วยความตื่นเต้น และมุ่งมั่น ทฤษฎีนี้กล่าวถึงการเรียนที่มีความสุขว่ามีองค์ประกอบอยู่ 6 ประการ ได้แก่

1. เด็กแต่ละคนได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีหัวใจและสมองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

2. ครูให้ความเมตตา จริงใจ และอ่อนโยนต่อเด็กทุกคนโดยทั่วถึง ครูเอาใจใส่เท่าเทียมกัน มีความยุติธรรม

3. เด็กเกิดความรัก และภูมิใจในตนเอง รู้จักปรับตัวได้ทุกที่ทุกเวลาเห็นคุณค่าของชีวิตและความเป็นมนุษย์ของตน

4. เด็กแต่ละคนมีโอกาสเรียนตามความถนัดและความสนใจ

5. บทเรียนสนุก แปลกใหม่ จูงใจให้ติดตามและเร้าใจ อยากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองในสิ่งที่สนใจ

6. สิ่งที่เรียนรู้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดประโยชน์และมีความหมายต่อตัวเขา

การจัดการเรียนการสอนที่ทำให้การเรียนรู้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เกิดความสุขร่วมกันทั้งผู้เรียนผู้สอนควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. บทเรียนเริ่มจากง่ายไปยากโดยคำนึงถึงวุฒิภาวะและความสามารถของผู้เรียนแต่ละวัย

2. วิธีเรียนสนุก ไม่น่าเบื่อและตอบสนองความสนใจใคร่รู้ของผู้เรียน

3. ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้มุ่งพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการคิดในแนวต่างๆ รวมทั้งความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์

4. มีกิจกรรมหลากหลาย สนุก ชวนให้ผู้เรียนสนใจเรียน

5. แนวการเรียนรู้สัมพันธ์และสอดคล้องธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสัมผัสสิ่งรอบตัว

6. สื่อที่ใช้ประกอบการเรียน เร้าให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจตรงตามเป้าหมาย

7. การประเมินผล เน้นพัฒนาของผู้เรียนในภาพรวมมากกว่าผลเรียนทางวิชาการ

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนรวม

สุมณฑา พรหมบุญ (2540:1-74) ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเป็นทฤษฎีที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านจิตใจ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง ได้รับการฝึกฝนทักษะต่างๆการแสวงหาความรู้ การคิด การจัดการความรู้

กระบวนการเรียนรู้ตัวอย่างที่นำมาเสนอมี 3 วิธี คือ

1. กระบวนการกลุ่ม(Grop process) เป็นกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มผู้เรียนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมีปฏิสัมพันธ์กัน

กิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้กระบวนการกลุ่มได้แก่ เกม บทบาทสมมติ

บทบาทของครูในการสอน มีดังนี้

- มีความเป็นกันเอง เห็นอกเห็นใจผู้เรียน

- พูดน้อย เป็นเพียงผู้ประสานงาน ไม่ชี้นำหรือโน้มน้าวความคิดของผู้อื่น

- ให้กำลังใจ กระตุ้นให้ทำงานและแสดงออก

- สนับสนุนให้คิดวิเคราะห์ สรุปผล และประเมินผลการเรียนรู้

บทบาทของผู้เรียนมีดังนี้

- ลงมือทำกิจกรรม ทำความเข้าใจงานที่ทำ

- ช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

- รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตน

2. การเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจ ( Cooperative learning ) เป็นวิธีเรียนที่จัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม สมาชิกแต่ละคนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ความสำเร็จของกลุ่ม

หลักการของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม แรงร่วมใจคล้ายกับกระบวนการกลุ่ม แต่ต่างกันตรงที่การเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจจัดกลุ่มผู้เรียนให้คละกันด้านความรู้ความสามารถ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแต่ละคนนำศักยภาพของตนมาเสริมสร้างความสำเร็จของกลุ่ม เทคนิคการจัดกิจกรรมการร่วมแรงร่วมใจ ได้แก่ การเล่าเรื่องรอบวง มุมสนทนา คู่ตรวจสอบ คู่คิด เป็นต้น

3. การเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้ ( Constructivism ) เป็นวิธีเรียนที่ผู้เรียนต้องแสวงหาความรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง

บทบาทของครู คือ เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนสรรค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมี 5 ขั้นตอน ดังนี้

- ปฐมนิเทศให้ผู้เรียนสร้างจุดมุ่งหมายและแรงจูงใจในการทำงาน

- ทำความเข้าใจ ให้ผู้เรียนทำความเข้าใจบทเรียน

- จัดโครงสร้างแนวคิดใหม่ ให้ผู้เรียนนำเสนอแนวคิดให้กระจ่าง

- นำแนวความคิดไปใช้ ให้ผู้เรียนนำแนวความคิดไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ

- ทบทวน ให้ผู้เรียนสะท้อนตนเองโดยเปรียบเทียบแนวความคิดของตน

ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด

ทิศนา แขมมณี (2540:11-236) ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่

กลุ่มที่ 1 เป็นคำที่แสดงถึงพฤติกรรม คำในกลุ่มนี้เรียกว่า ทักษะความคิด มี 2 ระดับ

1.1 ทักษะการคิดพื้นฐาน

- ทักษะการสื่อความหมาย ได้แก่ การฟัง การจำ การอ่าน การรับรู้

- ทักษะแกน ได้แก่ การสังเกต การสำรวจ การตั้งคำถาม การตีความ การเชื่อมโยงความรู้

1.2 ทักษะการคิดขั้นสูง ได้แก่ การนิยาม การผสมผสาน การสร้าง การวิเคราะห์

กลุ่มที่ 2 เป็นคำแสดงลักษณะของการคิด ซึ่งไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน คำกลุ่มนี้เรียกว่าลักษณะการคิด เช่น คิดคล่อง คิดละเอียด

กลุ่มที่ 3 เป็นคำที่แสดงถึงการดำเนินกิจกรรมการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน คำกลุ่มนี้ เรียกว่า กระบวนการคิด

ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย ดนตรี กีฬา

สุกรี เจริญสุข (2540:12-23) ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย ดนตรี กีฬา

เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอน วิชา ศิลปะ ดนตรี และพลศึกษาแก่ครู

การเรียนรู้ศิลปะ ดนตรี และพลศึกษาเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้สมบูรณ์ทุกด้าน ได้แก่

1. ด้านร่างกาย มีสุขภาพที่สมบูรณ์

2. ด้านจิตใจ และอารมณ์ มีจิตใจที่ร่าเริงแจ่มใส

3. ด้านสติปัญญา มีทักษะทางศิลปะ ทักษะในการเล่นดนตรี

4. ด้านสังคม มีน้ำใจนักกีฬา

5. ด้านจริยธรรม ประพฤติดี

ดนตรีเป็นเรื่องของความไพเราะ ศิลปะเป็นเรื่องของความงาม กีฬาเป็นศิลปะของการเคลื่อนไหว

จะเห็นได้ว่าทั้งสามวิชานี้ มีธรรมชาติที่เหมือนกัน จึงมีทฤษฎีการเรียนรู้ 3 ส่วนร่วมกันคือ

- ทฤษฎีความเหมือน

- ทฤษฎีความแตกต่าง

- ทฤษฎีความเป็นฉัน

ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยการฝึกฝนกาย วาจา ใจ

อำไพ สุจริตกุล (2540:132-137) ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยการฝึกฝนกาย วาจา ใจ เป้าหมายของการพัฒนาสังคมไทยคือ การสร้างความสมดุลระหว่างความมั่งคั่งทางวัตถุ ความเจริญงอกงามทางจิตใจ และความอาทรต่อธรรมชาติเพื่อให้คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น สังคมสันติ

ลักษณะนิสัยเด็กไทยที่ต้องพัฒนามีดังต่อไปนี้

1. การมีมารยาทและวิถีแห่งการปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ ขั้นพื้นฐาน

2. ความมีสติ สัมปชัญญะ เพื่อครองตน ไม่ถลำไปสู่ความชั่ว

3. ความมีคุณธรรมที่สำคัญ ได้แก่

ความมีวินัย รู้ค่าแห่งการมีระเบียบ

ความกล้าหาญ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ความกตัญญู รู้คุณบรรพชน รู้คุณคน

ความมีเมตตา รู้จักให้

ความอดทน สู้งาน มีความมุ่งมั่นใฝ่สำเร็จ

ความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว

ความสามัคคี ประนีประนอม รักสันติ

ความขยันหมั่นเพียร ไม่หวังแต่จะหาทางลัดในชีวิตการงาน

ความเป็นตัวของตัวเอง มั่นใจในตนเอง

ความสันโดษรู้จักพอ ไม่ดิ้นรน แสวงหาจนลืมความเป็นมนุษย์

ความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เป็นคนวางก้าม

4. ความรักในเพื่อมนุษย์

5. ความรักในธรรมชาติ

สรุปได้ว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ทั้ง 5 ทฤษฎีนี้นับได้ว่าเป็นแนวทางสำหรับครูนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพได้ เพราะแต่ละทฤษฎีครูผู้สอนสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นความเจริญงอกงามของผู้เรียนได้ สำหรับทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นทฤษฎีที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนาน มีความตื่นเต้นในการเรียน ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นทฤษฎีที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านจิตใจช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สัมผัสชีวิตจริง ได้รับทักษะต่างๆ ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด เป็นทฤษฎีที่พัฒนาทักษะความคิดซึ่งมีอยู่ 2 ระดับ คือ ทักษะการคิดพื้นฐาน ก็จะเป็นพวกการฟัง การจำ การอ่าน การรับรู้ และอีกหนึ่งทักษะคือ ทักษะการคิดขั้นสูง ได้แก่ การสร้าง การวิเคราะห์ และอีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ ทฤษฎีการกเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย การฝึกฝน กาย วาจา ใจ ทฤษฎีนี้เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาสังคมไทย คือ การสร้างความสมดุลระหว่างความมั่งคั่งทางวัตถุ ความเจริญงอกงามทางด้านจิตใจ

1.ทฤษฎีการเรียนรู้เป็นอย่างไร

( http://th Wikipedia.org/wiki); ได้สรุปว่าทฤษฎีการเรียนรู้ learning theory การเรียนรู้ คือ กระบวนการที่ทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด คนสามารถเรียนได้จาการได้ยินการสัมผัส การอ่าน การใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ของเด็กและผู้ใหญ่จะต่างกัน เด็กจะเรียนรู้ด้วยการเรียนในห้อง ซักถาม ผู้ใหญ่มักเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ที่มีอยู่ แต่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผู้สอนนำเสนอ โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผู้สอนจะเป็นผู้ที่สร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ที่จะให้เกิดขึ้นเป็นรูปแบบใดก็ได้ เช่น ความเป็นกันเอง ความเข้มงวดกวดขัน หรือความไม่มีระเบียบวินัย สิ่งเหล่านี้ผู้สอนจะเป็นผู้สร้างเงื่อนไข และสถานการณ์เรียนรู้ให้กับผู้เรียน ดังนั้น ผู้สอนจะต้องพิจารณาเลือกรูปแบบการสอนรวมทั้งการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน


( สาโรช บัวศรี,2539:43 ) ได้สรุปว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้อธิบายลักษณะของการเกิดการเรียนรู้ หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ และการสอนคือ แนวคิดที่เป็นหลักของการปฏิบัติทางการสอนก็สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆแนวคิดทั้งหลายทั้งทางด้านจริยธรรมและพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพื้นฐานที่สำคัญของทฤษฎีและหลักการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้

1. ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้และหลักการสอนในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่ ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มจิตวิทยาหรือกลุ่มเน้นการฝึกจิตหรือสมอง (Mental Disciplime)

2. ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้และหลักการสอนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่ ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) กลุ่มพุทธินิยมหรือความรู้ความเข้าใจ (Gognitivism) กลุ่มมนุษยนิยม(Humanism) และกลุ่มผสมผสาน (Electicism)

ปัจจุบันทฤษฎีที่กำลังได้รับความนิยมอีกมากมายเช่น ทฤษฏีพหุปัญญา ทฤษฎีการสร้างความรู้ และทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ

สรุปได้ว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ คือ ความคิดที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิดคนสามารถเรียนได้จากการได้ยินได้สัมผัส นอกจากนี้ผู้สอนจะต้องพิจารณาเลือกรูปแบบการสอนรวมทั้งการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน